ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่สบายท้อง

ตรวจทานและเรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อลิสรา ดำรงมณี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารและตับ


ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารพบได้บ่อยในทารก โดยพบว่ามากกว่า 50% ของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน1จะมีอาการทางระบบทางเดินอาหารและมักมีอาการไม่สบายท้อง เนื่องจากการทำงานของลำไส้และการย่อยอาหารของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่โดยอาการไม่สบายท้องที่พบบ่อย ได้แก่

1.ท้องผูก

อาการท้องผูกพบได้ 15% ของทารกที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร2 สามารถสังเกตได้จากทารกมีการถ่ายอุจจาระน้อยกว่าที่เคยถ่ายตามปกติหรือถ่ายน้อยกว่า1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็งมากขึ้น เป็นก้อนใหญ่ หรือเป็น เม็ดกระสุน รวมถึงอาจมีการเกร็งหรือออกแรงเบ่งมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการย่อยอาหารที่ยังไม่สมบูรณ์หรือได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมกับวัย

โดยปกติแล้วทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสเกิดท้องผูกน้อยกว่ากลุ่มที่กินนมผสมดังนั้นจึงแนะนำให้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตและให้ต่อเนื่องให้นานที่สุด แต่หากจำเป็นจะต้องให้นมผสม การเลือกนมที่มีโปรตีนซึ่งผ่านการย่อยบางส่วนจะมีส่วนช่วยทำให้ย่อยและดูดซึมได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงนมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มโอเลอินซึ่งช่วยให้อุจจาระนิ่ม จึงอาจมีประโยชน์ในทารกที่มีอาการท้องผูกและลดอาการไม่สบายท้องได้

2. โคลิค

อาการโคลิคพบได้ 20% ของทารกที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร3 ทารกที่มีอาการโคลิคจะร้องไม่หยุดเป็นชั่วโมงๆ โดยที่ไม่มีความผิดปกติทางร่างกายที่ชัดเจน บางรายอาจมีการงอขา งอตัว และกำมือแน่น ส่วนใหญ่แล้ว คุณพ่อคุณแม่มักจะต้องใช้เวลานานในการปลอบลูกให้หยุดร้อง การเกิดโคลิคนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิด จากการปรับตัวของทารกที่ยังไม่คุ้นชินกับโลกภายนอก ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม หรือเสียงที่รบกวนจนเกินไป ทารกบางรายอาจมีปัญหาระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น มีแก๊สในสำไส้ การเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ภาวะกรดไหลย้อน หรือการแพ้นมวัว อาการโคลิคไม่เป็นอันตรายและสามารถหายเองได้ การปรับพฤติกรรมอาจช่วยลดอาการลงได้บางส่วน เช่น การกินนมแม่ การจับเรอเพื่อลดแก๊สในลำไส้ การปลอบโยนแบบต่างๆ อย่างเหมาะสมเมื่อลูกร้อง รวมไปถึงการปรับจุลินทรีย์ในลำไส้
ในทารกที่มีความจำเป็นต้องให้นมผสม อาจพิจารณาเลือกนมให้เหมาะกับทารกหรือเลือกนมสูตรพิเศษที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดอาการไม่สบายท้อง เช่น นมที่มีโปรตีนซึ่งผ่านการย่อยบางส่วน มีปริมาณน้ำตาลแลคโตสน้อย และไม่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มโอเลอิน เพื่อช่วยให้ลำไส้สามารถย่อยและดูดซึมได้ง่าย ลดอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด หรือท้องผูก

3. ท้องอืด

ท้องอืด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกซึ่งเกิดจากการที่มีแก๊สในลำไส้มากเกินไป ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การดูดนมในท่าที่ไม่เหมาะสม ร้องไห้มากเกินไปทำให้มีลมเข้าไปในท้อง มีอากาศเข้าไปในท้องระหว่างดูดนม รวมถึงเกิดจากกระบวนการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง
ทารกที่ท้องอืดมักจะมีอาการท้องป่อง เรอบ่อย ร้องกวน หน้าแดง กำมือแน่น และดิ้นตลอดเวลา หากทารกมีอาการท้องอืด คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้โดยการอุ้มหรือจัดท่าให้เรอ รวมถึงการนวดท้องเบาๆ
นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันอาการท้องอืดได้ด้วยการป้อนนมในปริมาณที่พอเหมาะ อุ้มเด็กในท่าที่เหมาะสมขณะให้นม หากป้อนนมจากขวดควรให้อากาศเข้าไปในช่องท้องลูกให้น้อยที่สุด ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องกินนมผสม การเลือกนมที่มีโปรตีนซึ่งผ่านการย่อยบางส่วน รวมไปถึงมีปริมาณน้ำตาลแลคโตสน้อย จะช่วยทำให้การย่อยและดูดซึมง่ายขึ้น และมีส่วนช่วยลดอาการท้องอืดได้

4. แหวะนม

อาการแหวะนมพบได้ประมาณ 30% ของทารกที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร4 ภาวะดังกล่าวเป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นและอาการมักหายไปก่อนอายุ 1 ปี การแหวะนมในทารกเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารยังทำงานไม่สมบูรณ์มากนัก จึงทำให้นมในกระเพาะอาหารเอ่อล้นขึ้นแล้วไหลออกมาทางปาก ซึ่งเป็นอาการแหวะนมนั่นเอง
โดยปกติหลังจากแหวะนมแล้วทารกจะยังดื่มนมต่อได้ตามปกติ น้ำหนักขึ้นดี ไม่มีอาการขย้อน อาเจียนรุนแรง หรือร้องกวนผิดปกติ หากทารกแหวะนมบ่อย คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับปริมาณนมให้เหมาะตามความต้องการของลูก อาจปรับลดปริมาณนมในแต่ละครั้งลงแต่ให้นมบ่อยครั้งมากขึ้น จัดท่าที่เหมาะสมในการให้นม ควรทำให้ทารกเรอทุกครั้งหลังให้นมเสร็จ สำหรับทารกที่มีความจำเป็นต้องกินนมผสม การเลือกนมสูตรพิเศษที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ย่อยได้ง่าย เช่น นมที่มีโปรตีนซึ่งผ่านการย่อยบางส่วน และมีปริมาณน้ำตาลแลคโตสน้อย อาจมีส่วนช่วยลดอาการได้

ข้อมูลอ้างอิง

1 S. Daelemans, L. Peeters, B. Hauser, Y. Vandenplas. (7 September 2018) Recent advances in understanding and managing infantile colic. Vrije Universiteit Brussel: Brussel, Belgium

2G. Iacono, R. Merolla, D. D'Amico, E. Bonci, F. Cavataio, L. Di Prima, C. Scalici, L. Indinnimeo, M. Averna, A. Carroccio. (June 2005) Gastrointestinal symptoms in infancy: a population-based prospective study. The Paediatric Study Group on Gastrointestinal Symptoms in Infancy: Italy

3 G. Iacono, R. Merolla, D. D'Amico, E. Bonci, F. Cavataio, L. Di Prima, C. Scalici, L. Indinnimeo, M. Averna, A. Carroccio. (June 2005) Gastrointestinal symptoms in infancy: a population-based prospective study. The Paediatric Study Group on Gastrointestinal Symptoms in Infancy: Italy

4 G. Iacono, R. Merolla, D. D'Amico, E. Bonci, F. Cavataio, L. Di Prima, C. Scalici, L. Indinnimeo, M. Averna, A. Carroccio. (June 2005) Gastrointestinal symptoms in infancy: a population-based prospective study. The Paediatric Study Group on Gastrointestinal Symptoms in Infancy: Italy

abbottcares.mobile

แนะนำ ปรึกษาโภชนาการและสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญ

0-2252-244808.30 น. - 17.30น. จันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ

แนะนำ ปรึกษาโภชนาการและสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญ

Privacy Policy
Terms of Use