ทำอย่างไรเมื่อลูกแพ้โปรตีนนมวัว

 

ตรวจทานและเรียบเรียงโดย ผศ.พญ.นริศรา สุรทานต์นนท์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน รพ.จุฬาลงกรณ์

การแพ้โปรตีนนมวัว (Cow Milk Protein Allergy) เกิดจากการที่ร่างกายมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในนมวัว ส่งผลให้เด็กมีอาการผิดปกติดังจะได้กล่าวต่อไป ส่วนใหญ่พบในช่วงขวบปีแรก และถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่คุณแม่ไม่ควรละเลย

จากผลการวิจัย พบว่า การแพ้โปรตีนนมวัว เป็นหนึ่งในการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กไทย ซึ่งพบได้ประมาณ 2-3 หมื่นคนต่อปี1 โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การเป็นภูมิแพ้ในครอบครัว และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วัฒนธรรมการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไปจากเดิม

กลไกการแพ้โปรตีนนมวัวเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันและระบบทางเดินอาหารของเด็กเล็กนั้นยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้ย่อยโปรตีนได้ไม่ดีนัก ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนนมวัว และเกิดภาวะภูมิแพ้นมวัวขึ้นมา2

สัญญาณของอาการแพ้โปรตีนนมวัว ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ แบ่งเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้

1. อาการทางระบบทางเดินอาหาร

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ถ่ายเป็นมูกเลือดเป็นๆ หายๆ อาเจียน น้ำหนักไม่ขึ้น เด็กอาจจะปฏิเสธไม่ยอมดื่มนม หรือร้องงอแงผิดปกติหลังดื่มนมวัว ซึ่งอาจเป็นเพราะเด็กมีอาการปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบายตัว


2. อาการทางผิวหนัง

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ เป็นผื่นลมพิษทั่วตัวหรือตาบวม มีผื่นรอบปาก หลังจากดื่มนมวัว เด็กบางคนอาจมีผื่นคันเป็นๆ หายๆ ขึ้นที่บริเวณแก้ม ด้านนอกแขน ข้อศอก ข้อมือ ที่เรียกว่า ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis)


3. อาการทางระบบทางเดินหายใจ

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ครืดคราด มีเสมหะ น้ำมูกใสไหล คัดจมูก หายใจติดขัด มีเสียงวี้ดๆ หายใจเหนื่อย โดยพบร่วมกับอาการทางระบบทางเดินอาหาร หรือ อาการทางผิวหนัง

นอกจากนี้ การแพ้โปรตีนนมวัว ยังเป็นสัญญาณเตือนแรกของการพัฒนาการของโรคภูมิแพ้ หรือที่เราเรียกว่า "Allergic March"3 โดยเด็กมักเแสดงการแพ้โปรตีนนมวัว และมีผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในช่วงเด็กทารก และเมื่อโตขึ้นจะเริ่มแสดงอาการของโรคหอบหืด และเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้


วิธีป้องกันการแพ้โปรตีนนมวัว

ทำได้โดยให้ลูกดื่มนมแม่ให้นานที่สุด และเมื่อลูกเริ่มรับประทานอาหารเสริม ควรสังเกตอาการแพ้อาหาร เนื่องจาก หนึ่งในสามของเด็กที่มีประวัติแพ้นมวัวมีโอกาสที่จะแพ้อาหารอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ไข่แดง ไข่ขาว แป้งสาลี ถั่วลิสง อาหารทะเล ร่วมด้วย

วิธีรับมือ เมื่อลูกแพ้โปรตีนนมวัว

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยปกติแล้วคุณหมอจะแนะนำให้ดื่มนมแม่ โดยที่คุณแม่ควรงดรับประทานนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว แต่ถ้าหากคุณแม่ไม่สามารถให้นมได้ หรือให้นมได้ไม่เพียงพอ คุณหมออาจจะแนะนำให้เด็กดื่มนมสูตรทางเลือกที่พัฒนาขึ้นสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เช่น นมสูตรโปรตีนย่อยละเอียด (extensively hydrolyzed casein formula) ซึ่งโปรตีนในนมเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการย่อยโดยใช้เอนไซม์เพื่อให้โปรตีนนมวัวที่มีขนาดใหญ่ อันเป็นสาเหตุของการแพ้ แตกตัวเป็นเปปไทด์สายสั้นๆ และกระตุ้นให้เกิดการแพ้ลดลง4 หรือนมสูตรโปรตีนถั่วเหลือง (soy-based formula) อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวอายุ 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากไม่มีน้ำตาลแลคโตสและโปรตีนนมวัว จึงลดความเสี่ยงของการเกิดอาการแพ้นั้นเอง

ข้อมูลอ้างอิง

1 ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม. (17 กุมภาพันธ์ 2554) โรคแพ้นมวัว. สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย: กรุงเทพฯ

2 ดร. ภญ. ศวิตา จิวจินดา. (2 มีนาคม 2564) อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคแพ้โปรตีนนมวัว. ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: กรุงเทพฯ

3 U. Wahn PhD, MD. (September 2015) The Allergic March. Department für Pediatric Pulmology and Immunology Charité: Berlin, Germany

4 ดร. ภญ. ศวิตา จิวจินดา. (2 มีนาคม 2564) อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคแพ้โปรตีนนมวัว. ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: กรุงเทพฯ

abbottcares.mobile

แนะนำ ปรึกษาโภชนาการและสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญ

0-2252-244808.30 น. - 17.30น. จันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ

แนะนำ ปรึกษาโภชนาการและสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญ

Privacy Policy
Terms of Use