ภาวะการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง คืออะไร

ตรวจทานและเรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อลิสรา ดำรงมณี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารและตับ


ภาวะการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose Intolerance) เกิดจากการที่ลำไส้ไม่มีเอนไซม์แลคเตสหรือมีไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตหลักในนมได้ ส่งผลให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด โดยอาการจะเกิดเมื่อดื่มนมหรืออาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ โดยทั่วไปภาวะดังกล่าวมักเกิดตามหลังจากการติดเชื้อในลำไส้ซึ่งจะมีอาการเพียงชั่วคราว นอกจากนี้ อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นเช่น มีการสร้างเอนไซม์แลคเตสไม่เพียงพอ ซึ่งพบได้บ่อยในคนเอเซียมากกว่าในกลุ่มคนชาติตะวันตก ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสผิดปกตินั้นไม่ใช่ภาวะภูมิแพ้และมีกลไกการเกิดที่แตกต่างจากการแพ้โปรตีนนมวัว


อาการของภาวะการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง ประกอบไปด้วย ท้องอืด มีแก๊สในลำไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ในทารกอาจมีก้นแดง และในบางรายอาจมีอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปตามปริมาณน้ำตาลแลคโตสในนมที่ดื่มและปริมาณเอนไซม์แลคเตสในลำไส้ หากภาวะดังกล่าวไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจจะนำไปสู่โรคในระบบทางเดินอาหารที่รุนแรงได้


ในกรณีที่มีภาวะการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่องที่เกิดหลังจากการติดเชื้อในลำไส้ หากเป็นทารกที่กินนมแม่เป็นหลัก แนะนำให้กินนมแม่ต่อไป เนื่องจากอาการมักเป็นเพียงชั่วคราวและนมแม่มีสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือกินนมผสมอยู่เดิม ควรเปลี่ยนนมเป็นนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose Free Milk) จนกว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถเปลี่ยนกลับมากินนมปกติได้ในเวลาต่อมา


ในกรณีที่มีภาวะการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่องแต่กำเนิด อาจมีความจำเป็นต้องกินนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose Free Milk) ไปตลอด


นมปราศจากน้ำตาลแลคโตส คือ นมวัวที่ผ่านการเติมเอนไซม์แลคเตสเพื่อช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมให้แตกตัวเป็นน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลกาแลคโตส ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ โดยทั่วไปนมปราศจากน้ำตาลแลคโตสจะมีคุณค่าทางสารอาหารและรสชาติที่ใกล้เคียงกับนมวัวทั่วไป1


การเลือกนมสำหรับเด็กที่มีภาวะการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง นอกจากจะต้องปราศจากน้ำตาลแลคโตสเพื่อบรรเทาอาการท้องเสียแล้ว ควรพิจารณาส่วนประกอบอื่นๆที่สำคัญร่วมด้วย เช่น

  • มีคาร์โบไฮเดรตที่หลากหลาย

    เช่น มอลโทเดกซ์ทริน (Maltodextrin) และน้ำตาลซูโครส (Sucrose) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลเล็กที่ผ่านการย่อยแล้ว มีส่วนช่วยให้ดูดซึม และให้พลังงานได้เร็ว

  • ไม่มีน้ำมันปาล์มโอเลอิน

    ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น
  • มีนิวคลีโอไทด์ (Nucleotide)

    ซึ่งเป็นสารอาหารที่สามารถพบได้ในนมแม่

ข้อมูลอ้างอิง

1 R. Link, MS, RD. (20 December 2018) What Is Lactose-Free Milk. New York University: New York, USA

abbottcares.mobile

แนะนำ ปรึกษาโภชนาการและสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญ

0-2252-244808.30 น. - 17.30น. จันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ

แนะนำ ปรึกษาโภชนาการและสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญ

Privacy Policy
Terms of Use